วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2555

สื่อการสอนประเภทวัสดุ
ความหมายของสื่อวัสดุ
คำว่าวัสดุ  หมายถึง  สิ่งของที่มีขนาดเล็กบางอย่างมีความทนทานสูง  แต่บางอย่างฉีกขาดแตกหักชำรุดเสียหายได้ง่าย  เรียกว่า  วัสดุสิ้นเปลือง  เช่น  กระดาษ  กาว  สี  เชือก  กิ่งไม้  ใบไม้ วัสดุมีหลายประเภทขึ้นอยู่กับเกณฑ์ในการจำแนก  เช่น  วัสดุตามธรรมชาติ  วัสดุประดิษฐ์  วัสดุถาวร  วัสดุสิ้นเปลือง  วัสดุแข็ง  วัสดุเหลว  วัสดุ2มิติ   วัสดุ3มิติ  เมื่อนำวัสดุเหล่านี้มาใช้ประกอบการเรียนการสอนจึงเรียกว่า  “สื่อวัสดุ”  ซึ่งเป็นสื่อขนาดเล็กที่มีศักยภาพในการบรรจุเก็บเนื้อหาและถ่ายทอดความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  บางชนิดสื่อความหมายได้ด้วยตัวมันเอง  เช่น  แผนภูมิ  แผนภาพ  แผนสถิติ  โปสเตอร์  แต่บางชนิดมีขนาดเล็กมากต้องอาศัยเครื่องมืออุปกรณ์ในการฉายเพื่อขยายเนื้อหาสาระให้มีขนาดใหญ่  หรือเสียงดังขึ้นจึงจะสื่อความหมายอย่างชัดเจน  เช่น  ฟิล์ม  สไลด์  ฟิล์มภาพยนตร์  เทปเสียง  แผ่นโปร่งใส  เป็นต้น
ข้อดีและข้อจำกัดของสื่อวัสดุ
ข้อดี
1.แสดงเนื้อหานามธรรมที่ยากต่อการเข้าใจให้เข้าใจง่ายขึ้น
2.สามารถผลิตได้ง่าย ต้นทุนการผลิตต่ำ
3.สะดวกรวดเร็วในการใช้งาน
ข้อจำกัด
1.ใช้ได้กับกลุ่มเป้าหมายขนาดเล็กเท่านั้น
2.การออกแบบและการผลิตไม่ดี อาจทำให้ผู้เรียนเข้าใจยาก
ประเภทของสื่อวัสดุ
สื่อวัสดุที่ใช้กับการเรียนการสอนในปัจจุบัน  หากจำแนกตามคุณลักษณะที่ปรากฏให้เห็นมีดังนี้
1.สื่อวัสดุ 2 มิติ  โดยทั่วไปหมายถึง  สื่อวัสดุกราฟิกซึ่งมีรูปร่างบางแบนไม่มีความหนา  มีองค์ประกอบสำคัญคือ  รูปภาพ  ตัวหนังสือ  และสัญลักษณ์  สื่อเหล่านี้ได้แก่  กราฟ(graphs)  แผนภุมิ(charts)  ภาพพลิก(flipcharts)  ภาพโฆษณา(posters)  ภาพชุด(flash cards)  แผ่นโปร่งใส(transparencies)
2.สื่อวัสดุ 3 มิติ  เป็นสื่อที่สร้างมาจากวัสดุต่างๆ  สามารถตั้งแสดงได้ด้วยตัวมันเอง  ที่นิยมใช้กับกระบวนการเรียนการสอนได้แก่  หุ่นจำลอง(models)  ของจริง(real  objects)  ของตัวอย่าง(specimens)  ป้ายนิเทศ(bulletin  board)  กระดานแม่เหล็ก(magnify  boards)  ตู้อันตรทัศน์(diorama)
3.สื่อวัสดุอิเล็คทรอนิคส์   เป็นสื่อที่ใช้กับเคริองอิเล็คทรอนิคส์ ต่างๆมีทั้งประเภทเสียงอย่างเดียวและประเภทที่มีทั้งภาพและเสียงอยู่ด้วย  เช่น  เทปเสียง(tape)  ม้วนดีวีทัศน์(video  tape)  แผ่นซีดี(CD-ROM)    วีซีดี(VCD)  ดีวีดี(DVD)  เป็นต้น
สื่อวัสดุ 2 มิติ
โดยทั่วไปวัสดุ 2 มิติ  ที่นิยมใช้ประกอบการเรียนการสอนมีมากมายหลายชนิด  แต่สื่อวัสดุ 2 มิติ ซึ่งมองเห็นทางตา  ส่วนมากอาศัยงานกราฟิกเป็นองค์ประกอบหลักในการกระตุ้นการรับรู้และการสื่อความหมาย
วัสดุกราฟิกเป็นสื่อที่ผู้เรียนสามารถรับรู้ได้ทางตาซึ่งถือว่าเป็นอวัยวะที่มีปริมาณการรับรู้มากที่สุดเมื่อเทียบกับการรับรู้ด้วยประสาทรับสัมผัสด้านอื่นๆ  ด้วยเหตุนี้เองวัสดุกราฟิกจึงมีบทบาทและมีความสำคัญต่อกระบวนการเรียนการสอนและการถ่ายทอดความรู้  สื่อวัสดุกราฟิกที่เห็นได้โดยทั่วไปมีหลายรูปแบบ  เช่น  โปสเตอร์  หนังสือ  วารสาร  ป้ายประกาศ  ข้อความบนฉลากสินค้า  ลวดลายเสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่ม  สื่อการสอนต่างๆ ที่มีลักษณะเป็นภาพเขียน  สัญลักษณ์  และตัวอักษร
1.ความหมายของวัสดุกราฟิก
             วัสดุกราฟิก หมายถึง ทัศน์วัสดุอย่างหนึ่งที่นำมาใช้ในการสื่อความหมายเพื่อแสดงสัญลักษณ์หรือความหมายของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง แนวคิด และเสริมความเข้าใจโดยอาศัยส่วนประกอบที่เป็นรูปภาพ สัญลักษณ์ แผนภาพ ฯลฯ วัสดุกราฟิกจัดว่าเป็นสื่อราคาถูก (Low Cost Media) และครูผู้สอนสามารถผลิตได้ด้วยตนเอง
2. คุณค่าของวัสดุกราฟิก
             วัสดุกราฟิกเป็นสื่อพื้นฐานที่นิยมใช้ประกอบการเรียนการสอนหรือการเผยแพร่ความรู้ทั่วไป  ทั้งนี้เนื่องจากวัสดุกราฟิกมีคุณค่าหลายประการดังนี้
           1. ราคาถูก
           2. ครูผู้สอนสามารถผลิตได้ด้วยตนเอง
           3. มีคุณค่าต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนโดยตรง
           4. เก็บรักษาง่าย  ใช้ได้สะดวก
           5. สามารถประยุกต์หรือใช้ประกอบกับสื่ออื่น ๆ ได้
3. ประโยชน์ของวัสดุกราฟิก
               วัสดุกราฟิกมีประโยชน์ต่อการเรียนการสอน ดังนี้
                1. ช่วยให้ผู้สอนกับผู้เรียนเข้าใจความหมายได้ตรงกัน
                2. ช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดีกว่าการฟังคำบรรยายเพียงอย่างเดียว
                3. ประหยัดเวลา
                4. ช่วยให้ผู้เรียนสนใจบทเรียนยิ่งขึ้น
                5. ช่วยให้ผู้เรียนได้มีโอกาส มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียน
                6. ช่วยให้การอธิบายสิ่งที่เข้าใจยากให้เข้าใจง่ายขึ้น
4. ลักษณะของวัสดุกราฟิกที่ดี
        สื่อวัสดุกราฟิกที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนที่ดีควรมีลักษณะดังนี้
        1. มีความง่ายต่อความเข้าใจ สามารถสื่อความหมายได้รวดเร็ว ชัดเจนทั้งรูปภาพ สัญลักษณ์ ตัวอักษะและถ้อยคำ
        2. การออกแบบต้องคำนึงถึงการเรียนรู้โดยเรียงลำดับภาพ สัญลักษณ์และตัวอักษรตามลำดับขั้นตอน
        3. ต้องมีการเน้นจุดเด่นโดยการใช้สี ขนาด รูปร่าง รูปทรง เส้น หรือทิศทาง เพื่อแบ่งแยกข้อมูลที่เป็นใจความสำคัญ
ให้เด่นกว่าข้อมูลอื่น ๆ
        4. มีความเป็นเอกภาพทั้งเนื้อหาและรูปภาพ
        5. มีความประณีต สวยงาม ตามคุณค่าของศิลปกรรม
5. หลักการออกแบบวัสดุกราฟิก
การออกแบบวัสดุกราฟิกให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการสื่อความหมายควรยึดหลักการดังนี้
       1. ตรงกับจุดมุ่งหมายของเนื้อหาวิชา
       2. การออกแบบโดยการคำนึงถึงประโยชน์ที่จะนำไปใช้งานโดยมุ่งที่จะได้รับจากการใช้วัสดุกราฟิกเพื่อการสื่อความหมายสำคัญ
       3. การออกแบบวัสดุกราฟิกควรมีลักษณะง่าย ๆ ส่วนประกอบต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องแสดงรายละเอียดมากเกินไป และขบวนการผลิตไม่ยุ่งยากซับซ้อน
       4. คำนึงถึงความประหยัดทั้งเงินงบประมาณและเวลาในการจัดทำ
         5. มีสัดส่วนดี องค์ประกอบทั้งหมดกลมกลืน เช่น รูปแบบ พื้นผิว เส้น สี เป็นต้น
         6. มีโครงสร้างที่เหมาะสม กลมกลืนกับวัฒนธรรม สังคม และมีความถูกต้องตามสภาพที่เป็นจริง
6. ข้อดีและข้อจำกัดของวัสดุกราฟิก
               สื่อวัสดุกราฟิกมีข้อดีและข้อจำกัดต่อกระบวนการเรียนการสอนและการเรียนรู้ดังนี้
6.1 ข้อดี
              1. สามารถแสดงเนื้อหาให้เข้าใจได้ง่ายและเปรียบเทียบเนื้อหาต่าง ๆ ได้ดี
              2. สามารถผลิตได้ง่ายไม่จำเป็นต้องอาศัยความชำนาญพิเศษมากนัก
              3. ต้นทุกในการผลิตมีราคาถูกกว่าสื่อประเภทอื่น
              4. ใช้งานได้สะดวกรวดเร็วไม่ยุ่งยาก เก็บรักษาง่าย
              5. ผู้เรียนมีส่วนร่วมกิจกรรมการเรียนการสอน เช่น ทำแผนภูมิ จัดทำป้ายนิเทศ เป็นต้น
6.2 ข้อจำกัด
               1. ใช้ได้กับกลุ่มเป้าหมายที่มีขนาดเล็กเท่านั้น
               2. การออกแบบในการผลิตไม่ดีอาจทำให้ผู้เรียนเข้าใจได้ยาก
               3. วัสดุกราฟิกที่มีคุณภาพดีและสวยงามจำเป็นต้องใช้ผู้ชำนาญพิเศษมาช่วยในการผลิต
7. ตัวอย่างสื่อวัสดุกราฟิก
วัสดุกราฟิกชนิดต่าง ๆ ที่นิยมนำมาใช้ประกอบการเรียนการสอนมีดังนี้
7.1 แผนภูมิ (Charts)
             แผนภูมิเป็นวัสดุประเภทกราฟิก ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ สัญลักษณ์ รูปภาพ และตัวอักษร ใช้ประกอบการบรรยาย ชี้แจง สรุปสาระสำคัญ   เนื้อหาที่เหมาะสมกับสื่อแผนภูมิ ได้แก่ การเปรียบเทียบ ความต่อเนื่อง กระบวนการ ความสัมพันธ์ ขั้นตอน เป็นต้น
             7.1.1ลักษณะแผนภูมิที่ดี
                    1. เป็นแบบง่ายและแสดงแนวคิดเดียว
                    2. ขนาดใหญ่ อ่านง่าย ไม่แน่นเกินไป
                    3. ใช้สีเพื่อการเน้นเป็นสำคัญ
                    4. ภาพประกอบต้องเหมาะสม น่าสนใจ
                    5. เนื้อหาถูกต้องตามความเป็นจริง
                    6. เนื้อหาและคำบรรยายชัดเจน อ่านง่าย
                    7. มีการทบทวนในการใช้งานและการเก็บรักษา
            
  7.1.2 เทคนิคการนำเสนอ
                    1. แผนภูมิต้องตรงกับเนื้อหา
                    2. ต้องติดตั้งหรือแขวนให้เรียบร้อย
                    3. อธิบายตามลำดับขั้นอย่างต่อเนื่อง
                    4. ขณะใช้แผนภูมิต้องหันหน้าเข้าหาผู้เรียน
                    5. จุดสนใจควรเน้นด้วยสี ขนาด การปิด-เปิด
                    6. ควรให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมเสนอ
                    7. การชี้แผนภูมิควรใช้ไม้หรือวัสดุชี้
                    8. สามารถใช้ประกอบกับสื่ออื่น ๆ ได้
           
               7.1.3 ประเภทของแผนภูมิมี 9  ประเภท
                    1. แผนภูมิแบบต้นไม้ (Tree Charts) เหมาะกับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์แสดงให้เห็นสิ่งหนึ่งๆ แยกออกเป็นหลายสิ่ง หรือการจำแนกโครงสร้างใหญ่ไปหาองค์ประกอบย่อย  เช่น  ประเภทของเครื่องดนตรี  ประเภทของการคมนาคม  อาหารหลัก  5  หมู่             
                  2. แผนภูมิแบบสายธาร (Streem Charts) ใช้แสดงว่าสิ่งหนึ่ง เกิดจากหลายสิ่งมารวมกันจะมีลักษณะตรงกันข้ามกับแผนภูมิแบบต้นไม้ เช่น ชิพ เมนบอร์ด จอภาพ ขนมปังเกิดจาก แป้ง ยีสต์ น้ำตาล ปัจจัย 4 เป็นต้น
ตัวอย่างแผนภูมิแบบสายธาร

            3.แผนภูมิแบบต่อเนื่อง( Flow Charts)  ใช้แสดงเรื่องราวกิจกรรม การทำงานเป็นขั้นตอนตามลำดับต่อเนื่อง ตลอดจนการแสดง วงจรชีวิตที่เป็นลำดับต่อเนื่อง เช่น วงจรชีวิตของผีเสื้อ
       4 .แผนภูมิแบบองค์การ( Organization Charts)  เป็นแผนภูมิที่ใช้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของสายงานในหน่วยงานหรือองค์การ นิยมใช้เส้นโยงความสัมพันธ์ ของหน่วยงานย่อย ที่เกี่ยวข้องกันโดยตรงและใช้เส้นประ หรือเส้นจุดไข่ปลา แสดง ความสัมพันธ์ของหน่วยงานย่อยที่ เกี่ยวข้องกันโดยอ้อม เช่น แผนภูมิแสดงสายงานการบริหารโรงเรียน เป็นต้น                   
5.แผนภูมิแบบเปรียบเทียบ( Comparison Charts) เป็นแผนภูมิที่ใช้แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างสิ่งของสองสิ่งทางด้านรูปร่าง ลักษณะ ขนาด แนวความคิด ของสิ่งต่างๆ เช่น การเปรียบเทียบการแต่งกายในสมัยต่างๆ พืชใบเลี้ยงเดี่ยวกับใบเลี้ยงคู่   เป็นต้น
6.แผนภูมิตาราง (Tabular Charts)  ใช้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างเวลา กับเหตุการณ์ เช่น ตารางเรียน ตารางเวลารถไฟเข้าออก เป็นต้น
7.แผนภูมิแบบวิวัฒนาการ( Developmental Charts)   แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ต่อเนื่องกันเป็นลำดับ แต่ไม่ย้อนกลับมาที่จุดเริ่มต้นอีก
8.แผนภูมิแบบอธิบายภาพ (Pictorial Charts) ใช้ชี้แจงส่วนต่าง ๆ ของภาพให้เห็นชัดเจน เช่น
ส่วนประกอบของเครื่องยนต์ อวัยวะภายในของมนุษย์  ส่วนต่างๆ ของดอกไม้ เป็นต้น
9. แผนภูมิขยายส่วน   ( Enlarging Charts) ใช้แสดงส่วนที่ขยายจากส่วนเล็กๆที่ต้องการให้เห็นเด่นชัดขึ้น
7.2 แผนสถิติ (Graph)
                  แผนสถิติเป็นวัสดุลายเส้นที่เน้นการสื่อความหมายในเชิงปริมาณและตัวเลข แผนสถิติแต่ละเรื่องควรแจ้งที่มาของข้อมูลต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อถือ และเปิดโอกาสให้ศึกษาค้นคว้าต่อไปได้ง่ายขึ้น เนื้อหาที่เหมาะสมกับแผนสถิติ ได้แก่ ข้อมูลเชิงปริมาณ การเปรียบเทียบ ความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูล
7.2.1 ลักษณะแผนสถิติที่ดี
                     1. ตัวอักษร เส้น สี ต้องชัดเจน น่าสนใจ
                     2. มีลักษณะดูแล้วเข้าใจง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน
                     3. แสดงแหล่งที่มาของข้อมูลได้อย่างถูกต้อง
                     4. ควรนำเสนอในลักษณะเปรียบเทียบหรือแสดงความสัมพันธ์ของข้อมูล
                     5. แสดงขอมูลในลักษณะประมาณมิใช่เน้นความถี่ของข้อมูล
7.2.2 ประโยชน์ของแผนสถิติ
แผนสถิติมีประโยชน์ในกระบวนการเรียนการสอนดังนี้
        1.ใช้แสดงข้อมูลของจำนวนที่มีลักษณะเป็นนามธรรมให้เข้าใจได้ง่าย
        2.ช่วยให้ผู้เรียนรู้จักการอ่าน  วิเคราะห์  และสรุปข้อมูลทางสถิติได้
       3.ช่วยให้ผู้เรียนจดจำเนื้อหาที่แปลงเป็นแผนสถิติได้นานขึ้น
       4.ช่วยให้ผู้เรียนสามารถใช้ข้อมูลทางสถิติในการแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น
7.2.3 ข้อดีและข้อจำกัดของแผนสถิติ
การนำแผนสถิติมาใช้ประกอบการเรียนการสอน  ควรคำนึงถึงข้อดีและข้อจำกัดดังต่อไปนี้
     7.2.3.1 ข้อดี
          1.การแปลงข้อมูลนามธรรมเป็นรูปธรรม  ทำให้เรียนรู้ง่ายขึ้น
          2.ผู้เรียนสามารถเปรียบเทียบข้อมูลได้อย่างชัดเจน
          3.ผู้สอนสามารถนำเสนอข้อมูลได้หลากหลายรูปแบบ
         4.เป็นสื่อที่ผลิตง่าย  ทำได้ทั้งด้วยมือละคอมพิวเตอร์
         5.เป็นสื่อที่ใช้ประกอบการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    7.2.3.2 ข้อจำกัด
         1.แผนสถิติที่ดีต้องวิเคราะห์ความสอดคล้องของเนื้อหาข้อมูลกับรูปแบบแผนสถิติอย่างรอบคอบ  มิฉะนั้นอาจทำให้การสื่อความหมายผิดพลาดได้
         2.แผนสถิติที่ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ต้องระมัดระวังในการใช้สี  สัญลักษณ์  และข้อความกับรูปแบบของแผนสถิติเป็นอย่างดี
         3.แผนสถิติที่มีข้อมูลถูกต้องต้องได้ข้อมูลจากแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้เท่านั้น
             7.2.4 เทคนิคการใช้แผนสถิติ
              การใช้แผนสถิติประกอบการเรียนการสอนมีเทคนิควิธีดังนี้
     1.ผู้สอนต้องอธิบายหรือบอกผู้เรียนล่วงหน้าว่าจะใช้แผนสถิติประกอบการเรียนเรื่องอะไร  และมีวิธีอ่านข้อมูลถูกต้องอย่างไร
     2.เลือกแผนสถิติที่เหมาะสมธรรมชาติของเนื้อหาข้อมูล
     3.ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการใช้แผนสถิติ  ในกระบวนการเรียนการสอนโดยอาจเป็นการชี้  การติดตั้ง  การผลิต  ตลอดจนการอภิปรายซักถาม  และการเก็บรักษา
            7.2.5 ชนิดของแผนสถิติ
                  1.แผนสถิติแบบเส้น(Line Graph)
                   เป็นแบบที่แสดงข้อเท็จจริงของข้อมูลได้ละเอียดและถูกต้องที่สุด   ลายเส้นที่แสดงอาจเสนอการเปลี่ยนแปลงชองข้อมูลเดียว หรือเปรียบเทียบหลายข้อมูลก็ได้ลักษณะประกอบด้วย   เส้นแกนต้องและแกนนอนตั้งฉากกันอยู่ทั้งสองแกนแทนข้อมูลสองข้อมูลเกี่ยวข้องกัน
                  2.แผนสถิติแบบแท่ง(Bar Graph)
                   แผนสถิติแบบแท่ง เป็นแผนสถิติที่จัดทำได้ง่ายที่สุด และดูได้เข้าใจง่ายที่สุด โดย แสดงปริมาณหรือจำนวนของข้อมูลด้วยแท่งสี่เหลี่ยมซึ่งแต่ละแท่ง สี่เหลี่ยมแทนข้อมูลแต่ละข้อมูลมีขนาดกว้างเท่ากัน แต่ความสูงหรือความยาวของแท่งสี่เหลี่ยมแตกต่างกันซึ่งแผนสถิติแบบ แท่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 แบบคือ
                     2.1 แผนสถิติชนิดแท่งเดี่ยว   แสดงการเปรียบเทียบจำนวนหรือปริมาณของข้อมูลด้วยแท่งสี่เหลี่ยมแต่ละแท่งอาจอยู่ในแนวตั้งหรือ
แนวนอนก็ได้ แต่อยู่ในทิศทางเดียวกัน
                2.2 แผนสถิติชนิดแบ่งส่วน    ในแท่งสี่เหลี่ยมแต่ละแท่งแสดงจำนวนหรือปริมาณ ข้อมูลสองข้อมูลขึ้นไปโดยใช้สีเส้น หรือการแรเงาแสดงความแตกต่าง ของข้อมูลทั้งสอง
                  2.3 แผนสถิติชนิดสองด้าน    ใช้เปรียบเทียบจำนวนของข้อมูลต่างๆ โดยแสดงเป็นแท่งสี่เหลี่ยมทั้งสองด้านของ เส้นแกน แล้วใช้สี เส้นหรือการแรเงา แสดงความแตกต่างของข้อมูลแต่ละข้อมูล
             3.แผนสถิติแบบวงกลม (Circle Or Pie Graph)
              
ใช้แสดงอัตราส่วนที่เป็นร้อยละของข้อมูล เพื่อเปรียบเทียบจำนวนหรือปริมาณ โดยแสดงเป็นภาพวงกลมซึ่งแทนจำนวนหรือปริมาณทั้งหมด (100 %) เท่ากับ 360 องศา แผนสถิติแบบวงกลมบางครั้งอาจทำเป็นชิ้นหนาและแบ่งชิ้นส่วนออกเป็นชิ้นย่อยๆ คล้ายกับขนมพายบางคนจึงเรียกว่า Pie Graph
       4. แผนสถิติแบบรูปภาพ (Pictorial Graph)
          ดัดแปลงมาจากแผนสถิติแบบแท่งโดยใช้ภาพลายเส้นง่ายๆ แสดงความหมายของ ข้อมูลแทนการใช้แท่งสี่เหลี่ยม ซึ่งแต่ละภาพมีรูปร่างเหมือนกันและขนาดเท่ากัน ภาพหนึ่งๆ แทนจำนวนหรือปริมาณของข้อมูลโดยกำหนดอัตราส่วนที่แน่นอน ข้อดีของแผนสถิติแบบนี้จะสามารถดึงดูดความสนใจได้ดี เข้าใจง่ายและรวดเร็ว
            5.แผนสถิติแบบพื้นที่ (Area Graph)
           แผนสถิติแบบพื้นที่ เป็นแผนสถิติที่ใช้ขนาดของ พื้นที่ หรือรูปทรง เรขาคณิต แสดงปริมาณ ของข้อมูลต่างๆ เพื่อเปรียบเทียบ จำนวน โดยอาจเกิด จากลายเส้น ของ แผนสถิติ แบบเส้น กับเส้นฐานแล้ว ระบายพื้นที่ เพื่อให้เห็นความแตกต่าง ที่เกิดขึ้น หรือใช้รูปทรงสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม แสดงปริมาณ เป็นภาพโครงร่าง ของสิ่งนั้นๆ เพื่อให้ผู้ดู เข้าใจได้ง่าย และรวดเร็ว
7.3 แผนภาพ(Diagrams)
 แผนภาพเป็นทัศน์วัสดุที่ใช้ถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ ความคิดเห็น หรือเรื่องราว ต่างๆ โดยแสดงความสัมพันธ์ ของโครงสร้าง หรือการทำงานที่ซับซ้อนให้เข้าใจง่ายขึ้น โดยอาศัยภาพลายเส้น ตัวอักษร สัญลักษณ์ เพื่อแสดง ลักษณะเฉพาะ หรือโครงสร้างที่สำคัญเท่านั้น
       7.3.1 ลักษณะของแผนภาพที่ดี
              แผนภาพที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนที่ดีควรมีลักษณะดังนี้
1.มีรูปแบบง่ายๆ แสดงแนวความคิดเดียยว
2.ขนาดใหญ่พอสมควร  รูปภาพ  ตัวอักษร  อ่านได้ชัดเจน
 3.ใช้สีแสดงความแตกต่างและความเหมือนกัน
              4.ควรใช้รูปภาพและสัญลักษณ์ให้มากกว่าตัวหนังสือ
       7.3.2 เทคนิคการนำเสนอแผนภาพ
               การใช้แผนภาพประกอบการเรียนการสอนให้ได้ผลดีควรมีวิธีดังนี้
        1. เลือกใช้แผนภาพที่ตรงกับเนื้อหาและวัตถุประสงค์ของการสอน                                                                                                              
              2. เตรียมห้องเรียน และเตรียมผู้เรียนโดยให้ศึกษาเนื้อหาล่วงหน้า                                                                                
              3. เสนอแผนภาพอย่างช้าๆ อธิบายให้ละเอียดและชัดเจน                                                                                         
              4. ควรใช้ไม้ชี้ประกอบการอธิบาย                                                                                                                                
             5. ใช้สื่อการสอนอื่นประกอบการใช้แผนภาพด้วย                                                                                                           
       7.3.3 ประเภทของแผนภาพ
                แผนภาพแบ่งออกเป็น  4  ประเภทดังนี้
               1.แผนภาพลายส้น    เป็นแผนภาพที่ใช้ลายเส้น รูปทรง และข้อความประกอบกัน เหมาะสำหรับแสดง โครงสร้างทั้งภายในและภายนอก พร้อมกับมีเส้นโยงแสดงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน ทั้งลักษณะและตำแหน่ง และความสัมพันธ์ ของภาพที่แสดง
             2.แผนภาพแบบบล็อก       เป็นแผนภาพที่ใช้รูปทรงง่ายๆแสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบอย่างหยาบๆ แสดงความสัมพันธ์ของระบบการทำงานที่เกี่ยวเนื่องกัน โดยไม่เน้นรายละเอียดของการทำงาน

               3.แผนภาพแบบรูปภาพ เป็นแผนภาพ ที่ใช้ลายเส้นเขียน เป็นภาพง่ายๆ แทนสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพียงต้องการให้ดูเหมือนหรือใกล้เคียงเท่านั้น ผู้ดูจะเกิด ความเข้าใจ ได้เองแผนภาพแบบนี้ จึงเหมาะ แก่การแสดงหลักการทำงาน ถ้าภาพ ที่วาดเหมือนจริง มากจะกลายเป็น แผนภูมิอธิบายภาพ
                4.แผนภาพแบบผสม  เป็นแผนภาพ ที่ใช้เทคนิค การเขียนลายเส้น บนรูปภาพเพื่อเน้นให้เห็นความสำคัญ เฉพาะ บางส่วน โดยเป็นการรวม ทั้งรูปภาพ และลายเส้น เข้าด้วยกัน
7.4 ภาพพลิก
ภาพพลิก เป็นทัศน์วัสดุ ที่เป็นชุด ของภาพถ่าย ภาพวาด แผนภูมิ หรือกราฟ ซึ่งนำมารวมเข้าเป็นเรื่องราว ให้มีความต่อเนื่อง สัมพันธ์กันตั้งแต่ต้นจนจบ จำนวนประมาณ 10 -15 แผ่น เหมาะสำหรับใช้ในการนำเสนอ สื่อที่เป็นเรื่องเป็นราว ใช้กับกลุ่มผู้เรียน ที่มีขนาดไม่เกิน 20 -30 คน ถ้าใช้นอก สถานที่ ควรมี ขาหยั่งสำหรับแขวนโดยเฉพาะ 
7.5 ภาพโฆษณา (Posters)
ภาพโฆษณา เป็นทัศน์วัสดุที่ใช้แสดงความคิดหรือข้อเท็จจริงด้วยสัญลักษณ์ ภาพประกอบที่สะดุดตา คำขวัญที่กินใจ หรือคำอธิบายสั้นๆ โดยการออกแบบที่ดึงดูดความสนใจของผู้พบเห็นในระยะเวลาอันสั้น สามารถเข้าใจได้ง่าย จดจำได้อย่างรวดเร็ว
7.5.1 ลักษณะของภาพโฆษณาที่ดี
1. มีจุดมุ่งหมายเดียว แน่นอน ออกแบบง่ายไม่ซับซ้อน
2. เร้าความสนใจผู้พบเห็น ด้วยภาพ ข้อความที่สะดุดตา สะดุดความคิด ชวนให้ติดตาม
3.ใช้ภาพประกอบง่าย สีเด่น สะดุดตา ชวนดู
4.ควรมีขนาดใหญ่ ประมาณ 22 - 44 นิ้ว
5.ถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างรวดเร็วและตรงประเด็น
6.ข้อความที่ใช้ควรกระชับ ตรงประเด็น เข้าใจง่าย ตรงใจผู้อ่าน ชวนให้คิด และมีขนาดที่เหมาะสม
7.5.2ประโยชน์ของภาพโฆษณาต่อการเรียนการสอน
1.ใช้เป็นการนำเข้าสู่บทเรียนได้อย่างเป็นอย่างดี จะช่วยเร้าความสนใจผู้เรียน
2.ใช้เป็นเครื่องเตือนใจ กระตุ้น ระมัดระวัง ในการประพฤติปฏิบัติ
3.ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีภายในห้องเรียน
4.ใช้ประกาศข่าวสารต่างๆ 
7.6 การ์ตูน
การ์ตูน เป็นภาพสัญลักษณ์ที่ใช้แทนสิ่งต่างๆ เช่น บุคคล สัตว์ หรือสิ่งของ เป็นต้น เพื่อถ่านทอดเรื่องราว ซึ่งเป็นแนวความคิดหรือทัศนะของผู้เขียน เพื่อจูงใน ให้แนวความคิด สร้างอารมณ์ขัน หรือล้อเลียน
7.6.1 ลักษณะของการ์ตูนที่ดี
1.แสดงภาพได้ตรงกับจุดมุ่งหมายที่ต้องการ ผู้ดูเข้าใจความหมายถูกต้องตรงกัน
2.ภาพที่เขียนต้องเป็นภาพง่ายๆ แสดงหรือให้รูปแบบเฉพาะที่ต้องการแสดงออกเท่านั้น
3.การ์ตูนแต่ละภาพควรให้ความหมายเดียวเท่านั้น
4.คำบรรยายควรสั้น กะทัดรัดแต่มีความหมาย
7.6.2 ประโยชน์ของการ์ตูนต่อการเรียนการสอน
1.ใช้เร้าความสนใจเพื่อช่วยในการนำเข้าสู่บทเรียน
2.ใช้อธิบายหรือประกอบการอธิบายให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในเนื้อหามากยิ่งขึ้น
3.ใช้เป็นกิจกรรมของนักเรียนในระดับเด็กเล็ก
4.เป็นสื่อที่ช่วยสร้างบรรยากาศในห้องเรียน ผู้เรียนมีความสนุกสนาน และยังผ่อนคลายความตึงเครียดในการเรียนการสอนด้วย
        7.6.3 การแบ่งประเภทการ์ตูน
1. การ์ตูน (Cartoons)    
2. การ์ตูนต่อเนื่อง (Comic Strips)
3. การ์ตูนเรื่อง (Comic Books)
4. การ์ตูนลายเส้น (Stick Figures)
                                                     สื่อวัสดุ 3 มิติ
1.ความหมายของสื่อวัสดุ  3  มิติ
วัสดุ 3 มิติบางครั้งเรียกกันว่าวัสดุมีทรงหมายถึง  วัสดุที่มีลักษณะเป็นสามมิติ  คือ มีความกว้าง ความยาความหนา หรือความลึก ในทางการเรียนการสอนหมายถึง  ของจริง  ของตัวอย่าง  ของจำลอง  ตู้อันตรทัศน์   และสิ่งของอื่น ที่มีลักษณะเป็นรูปทรง
2.ตัวอย่างสื่อวัสดุ  3  มิติ
2.1 หุ่นจำลอง (Models) หมายถึง วัสดุสามมิติที่สร้างขึ้นเพื่อเลียนแบบของจริง   เนื่องจากข้อจำกัดบางประการที่ไม่สามารถจะใช้ของจริง  ประกอบการเรียนการสอนได้  เช่น  การอธิบายลักษณะและตำแหน่ง  ของอวัยวะภาพในร่างกายของคนหรือสัตว์  ดังนั้นของ จำลองจึงมีคุณค่าต่อการเรียนใกล้เคียงกับของจริง
2.1.2 ลักษณะของหุ่นจำลองที่ดี
-หุ่นจำลองที่เป็นวัสดุ 3 มิติ  ทำให้ผู้ดูเกิดความคิดรวบยอดที่ถูกต้อง
-ขยายหรือลดขนาดแท้จริงได้ให้สะดวกแก่การพิจารณา
-หุ่นจำลองที่แสดงให้เห็นภายในได้ซึ่งไม่สามารถเห็นได้จากของจริง
-ใช้สีเพื่อให้เห็นส่วนสำคัญ
-ควรตัดส่วนที่ไม่สำคัญออก  เพื่อให้เข้าใจง่าย
2.1.3 เทคนิคการใช้หุ่นจำลอง
-ต้องศึกษาหุ่นจำลองที่เหมาะสมทั้งขนาดรูปร่าง สี และสัญลักษณ์ต่างๆ
-ครูต้องศึกษาล่วงหน้าก่อนนำไปใช้สอน 
-อธิบายเปรียบเทียบ  หาความสัมพันธ์กับสิ่งที่เป็นจริง 
       -เปิดโอกาสให้นักเรียนซักถาม  หรือเข้ามาระยะไกล
       -ควรใช้สื่ออื่นประกอบ เช่น  แผนภูมิ  แผนภาพ
- หุ่นจำลองบางชนิด  จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย
-เปิดโอกาสให้ศึกษาค้นคว้า  หาคำตอบจากหุ่นจำลองด้วยตัวเอง
2.1.4 ประเภทของหุ่นจำลอง
                 อาจแบ่งได้หลายประเภทตามลักษณะ  และความมุ่งหมายของหุ่นจำลองนั้น ๆ แต่อย่างไรก็ตามการแบ่งประเภทของ หุ่นจำลอง  อาจแบ่งแยกประเภทกันไม่ชัดเจน  เพราะแต่ละประเภทก็มีความเกี่ยวข้องกัน  หรือมีลักษณะบางอย่างเหมือนกัน  โดยทั่วไปแบ่งประเภทดังนี้
               หุ่นรูปทรงภายนอก  (Solid Model) หุ่นแบบนี้ต้องการแสดงรูปร่าง หรือ รูปทรงภายนอกเท่านั้น เพื่อให้ได้รับความเข้าใจโดยทั่วไป  รายละเอียดต่าง ๆ ไม่จำเป็นก็ตัดทิ้งเสีย  หุ่นจำลองแบบนี้ย้ำเน้นใน เรื่องน้ำหนัก  ขนาด  สี หรือ พื้นผิว ลวดลาย มาตราส่วน  อาจจะใช้ผิดไปจากของจริงได้

                 หุ่นเท่าของจริง (Exact  Model)  มีขนาดรูปร่างรายละเอียดทุกอย่างเท่าของจริงทุก
ประการ พวกนี้ ใช้แทนของจริงที่หาได้  หรือ ราคาแพง หรือเสียหาย แตก หักง่าย แต่ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องให้นักเรียน ได้เข้าในรายละเอียดทุกอย่างในของจริง

               หุ่นจำลองแบบขยายหรือแบบย่อ (Enlarge, Reduce Model) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าหุ่นจำลองแบบ มาตราส่วน ทั้งนี้เพราะ  ย่อหรือขยายให้เล็ก  หรือใหญ่เป็นสัดส่วนกับของจริงทุกส่วนพวกนี้เป็นประโยชน์ ในการที่นักเรียนจะได้เข้าใน  รายละเอียดและความสัมพันธ์ของของจริงได้  ตัวอย่างเช่น ลูกโลก (Globes) คือ หุ่นจำลองที่ย่อโลกลงมาเพื่อให้สะดวกแก่การนำมาใช้  ในการเรียนการสอนมีหลายแบบ เช่น แสดงลักษณะภูมิประเทศ  แสดงอาณาเขตเฉพาะโครงร่างอาณาเขตของ พื้นที่เป็นพื้นดินและพื้นน้ำ
                หุ่นจำลองแบบผ่าซีก (Cut Away Models) แสดงให้เห็นลักษณะภายใน  โดยตัดพื้นผิวบางภายนอก บางส่วนออก  ให้เห็นว่า  ชิ้นส่วนต่าง ๆ ประกอบกันอย่างไร  จึงจะเกิดเป็นสิ่งนั้น ๆเช่น หุ่นตัดให้เห็น ภายในหุ่น  ตัดให้เป็นลักษณะภายในของดอกไม้

                หุ่นจำลองแบบเคลื่อนไหวทำงานได้ (Working Models) หุ่นจำลองแบบนี้  แสดงให้เห็นส่วนที่ เคลื่อนไหวทำงานของวัตถุหรือเครื่องจักร  หุ่นจำลองแบบนี้เป็นประโยชน์ในการสาธิตการทำงานหรือหน้า ที่ของสิ่งของนั้น ๆ
               หุ่นจำลองเลียนของจริง (mockup  Models) แบบนี้แสดงความเห็นจริง  ของสิ่งหนึ่งซึ่งจัดวาง หรือประกอบส่วนต่าง ๆ ของของจริงเสียใหม่ให้ผิดไปจากที่เป็นอยู่เดิม ส่วนมากใช้เป็นประโยชน์แสดง ขบวนการซึ่งมีหลาย ๆ ส่วนเข้าไปเกี่ยวกันด้วย 
              หุ่นจำลองแบบแยกส่วน (Build up Models)  หุ่นจำลองแบบนี้แสดงให้เห็นส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด ของสิ่งนั้น  ว่าภายในสิ่งนั้นประกอบด้วยสิ่งย่อย ๆ สามารถถอดออกเป็นส่วน ๆ และประกอบกันได้  หุ่นจำลองแบบนี้  จะช่วยให้เข้าใจถึงหน้าที่และความสัมพันธ์ของส่วนต่าง ๆ

2.2 ของจริง (Real Things) ของจริงหมายถึง  สิ่งเร้าต่างๆที่มีสภาพเป็นของเดิมแท้ๆของสิ่งนั้นอาจเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติหรือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น  และเป็นได้ทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิต  ผู้เรียนสามารถรับรู้และเรียนรู้ของจริงได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง  5  ทำให้สามารถมองเห็น  ได้ยิน  ได้กลิ่น  ได้ลิ้มรส  และได้สัมผัสกับบรรยากาศของของจริงด้วยตนเอง  ดังนั้นสื่อประเภทของจริงจึงมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยการแสดงสาระที่เป็นจริงได้ดีกว่าหุ่นจำลอง  แต่อย่างไรก็ตามสื่อของจริงบางอย่างก็ไม่เหมาะที่จะนำมาให้ดูกันได้  หากสิ่งนั้นมีขนาดเล็กหรือใหญ่เกินไป  อยู่ไกลเกินไป  หรือสิ่งนั้นเป็นของจริงที่มีอันตราย
                                2.2.1 ลักษณะของของจริงที่ดี
                                ของจริงที่ดีควรมีลักษณะดังนี้
   1.มีขนาดเหมาะสมกับสภาพการเรียนการสอน
   2.มีสภาพเป็นจริงตามธรรมชาติหรือต้นกำเนิด
  3.ต้องไม่เป็นอันตรายต่อผู้เรียน  ผู้สอน  และสิ่งแวดล้อม
  4.ไม่มีลักษณะยุ่งยากสลับซับซ้อนเกินไป
  5.ค่าใช้จ่ายไม่สูงเกินไป
                                2.2.2 ประเภทของของจริง
                            ของจริงอาจแบ่งได้เป็น 3  ลักษณะ  คือ
ของจริงตามสภาพเดิม   ของจริงแปรสภาพ  และของตัวอย่าง
                1.  ของจริงตามสภาพเดิม (unmodified real objects)   หมายถึงของจริงที่ยังคงรักษาลักษณะเดิมตามความเป็นจริงทุก อย่าง  ยังไม่ถูกแปรสภาพ  นอกจากนำออกมาจากสิ่งแวดล้อมเดิมของจริงเหล่านี้อาจเป็นสิ่งธรรมชาติ  หรือสิ่งที่มนุษย์สร้าง ขึ้นมากก็ได้  อาทิเช่น ต้นไม้ สัตว์ คน รถยนต์ ฯลฯ
               2.ของจริงแปรสภาพ  (Modified real) หมายถึงของจริงที่ถูกเปลี่ยนสภาพจากลักษณะเดิมของมัน  ซึ่งอาจตัด หรือเลือกเฉพาะส่วนที่สำคัญมาแล้ว  อาจทาสีแสดงส่วนที่แตกต่างกันให้เห็นได้ชัดเจน  เช่น หัวกะโหลก  ชิ้นส่วนของโครงกระดูก เครื่องยนต์ที่ผ่าให้เห็น  ส่วนประกอบภายใน  สัตว์อบ  และสัตว์สต๊าป เป็นต้น 
             ของจริงมีคุณค่ามากต่อการเรียนการสอน  ก็ต่อเมื่อของจริงที่นำมานั้นจะต้องเหมาะสมแก่การสังเกต  จับต้อง  ตั้งแสดง อภิปราย ฯลฯ  แต่ของจริงบางอย่าง  อาจไม่ให้ความรู้ตามข้อเท็จจริงได้ทั้งนี้เพราะมีข้อจำกัดบางประการคือ
              ของจริงที่นำมาอาจถูกแปรสภาพไปจากเดิม  ไม่มีความสมบูรณ์ในตัว
             ของจริงบางอย่างมีส่วนประกอบที่ยุ่งยากซับซ้อนยากแก่การเรียนรู้
             ของจริงบางอย่างไม่อาจนำมาศึกษาได้ทั้งหมด
             ของจริงบางอย่างมีขนาดเล็กหรือโตเกินไป  หรืออาจเป็นอันตรายไม่สะดวกที่จะนำมาศึกษาได้
             ของจริงบางอย่างอาจอาได้ยากหรือราคาแพงเกินไป
            3.ของตัวอย่าง (Specimens) เป็นของจริงถูกนำเสนอเพียงบางส่วนของทั้งหมด  เช่น  ดินมีหลายชนิดแต่นำมาแสดงให้เป็นตัวอย่างเพียง 2 ชนิด  หินบนดวงจันทร์มีหลายชนิดหลายลักษณะแต่เก็บมานำเสนอเพื่อเป็นตัวอย่างเพียงชนิดเดียว เป็นต้น
        2.2.3 เทคนิคการใช้การใช้ของจริงประกอบการสอน
          2.2.3.1 การเลือก 
          มีขนาดพอเหมาะสมที่จะใช้ในห้องเรียน
          ไม่มีความลำบากในการใช้   มีความปลอดภัย
            - ไม่มีลักษณะยุ่งยากซับซ้อนเกินไป
           มีสภาพสมบูรณ์ตามที่เป็นจริงในธรรมชาติ
           ราคาค่าใช้จ่ายไม่สูงไปนัก
           2.2.3.2  การแสดงของจริง
       ต้องแน่ใจว่าทุกคนได้เห็นรายละเอียดทั่วถึง  ต้องพิจารณาด้วยว่ารายละเอียดใดที่นักเรียนอาจจะไม่   สังเกต    หรือเข้าใจผิดต้องชี้แนะให้เข้าใจตรงกันทุกคน
       หากไม่แน่ใจว่านักเรียนจะเห็นทั่วถึง  ก็อาจจะใช้เครื่องฉายภาพได้  แต่ต้องให้ดูขนาดของจริงแท้ก่อน แล้วจึงฉายขยายขนาดให้เห็นรายละเอียด
      ควรมีกิจกรรมอื่นร่วมด้วย  เช่น ให้นักเรียนมีส่วนร่วมทางวัตถุ  หรือของจริงโดยให้นักเรียนเก็บตัวอย่าง สะสม  จัดแสดง  หรือจัดพิพิธภัณฑ์ของห้อง  ซึ่งเป็นการกระตุ้นการศึกษาในเนื้อหาวิชาต่าง ๆ ด้วย
      การใช้ของจริงและวัตถุนั้น ส่วนมากเราต้องการจะสร้างความคิดรวบยอด  ดังนั้นจึงต้องตัดสินใจก่อน ใช้ว่าจะสร้างความคิดรวบยอดประการใด  และวัตถุหรือของจริงนั้นจะสร้างความคิดรวบยอดเช่นนั้นได้หรือไม่
    ของจริงบางอย่างอาจหาได้ยากหรือราคาแพงเกินไป
              2.3  ป้ายนิเทศ( Bulletin Boards )  ป้ายนิเทศเป็นทัศน์วัสดุที่นำมาใช้ในการแสดงเรื่องราวต่างๆ แก่ผู้ดูโยใช้วัสดุหลายอย่างติดไว้บนแผ่นป้าย เช่น รูปภาพ แผนภูมิ ข้อความที่อธิบายภาพ รวมทั้งวัสดุ 3 มิติ ของจริงหรือของจำลอง  เผยแพร่ความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือ ใช้เป็นป้ายประกาศ และแสดงผลงานของหน่วยงานต่างๆ ป้ายนิเทศควรมีความสมบูรณ์ในตัวเอง ซึ่งผู้ดูสามารถเข้าใจได้โดยไม่ต้องอาศัยผู้บรรยายประกอบแต่ไม่ควรมีรายละเอียดมากเกินไป ควรบรรจุเนื้อหาเพียงเรื่องเดียว ถ้าเนื้อหามากควรจัดแสดงเป็นหลายๆแผ่น เรียงไปตามลำดับ มีจุดเริ่มต้นและจบในตัวเอง
                2.3.1  ลักษณะของป้ายนิเทศที่ดี
          1. ใช้ภาพเป็นที่น่าสนใจเป็นพิเศษ
          2. มีเรื่องราวครบบริบูรณ์แต่ไม่ควรจัดมากกว่า 1 เรื่อง
          3. มีความต่อเนื่องกันและมีความกลมกลืนกัน
         4. มีจุดสนใจหลักเพียงจุดเดียว จุดอื่นๆเป็นจุดรอง
         5. สามารถสร้างความรู้สึก ให้ผู้ดูสนใจติดตามการเคลื่อนไหว
         6. จัดให้มีภาพใกล้เคียงความจริง

                 2.3.2  ส่วนประกอบของป้ายนิเทศ
             โดยทั่วไปป้ายนิเทศจะประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญๆดังนี้
      1.ชื่อเรื่อง  มีลักษณะเป็นหัวข้อสั้นๆ อ่านง่าย มองเห็นได้ในระยะไกล
      2.รูปภาพ หรือสัญลักษณ์ ควรมีขนาดใหญ่เหมาะกับพื้นที่ป้ายนิเทศ
      3.ข้อความอธิบายภาพ แนะนำ  ย้ำเตือน
      4.วัสดุตกแต่งเพื่อให้ป้ายดูสวยงาม
                2.4 ตู้อันตรทัศน์(Diorama)  เป็นทัศน์วัสดุที่ออกแบบเป็นสื่อ 3 มิติเลียนแบบธรรมชาติหรือบรรยากาศสิ่งแวดล้อมที่เป็นของจริง กระตุ้นความสนใจได้ดีด้วยลักษณะเป็นฉาก ที่มีความลึกคล้ายกับของจริง  วัสดุประกอบฉากสอดคล้องเป็นเรื่องเดียวกัน สีสันเหมือนจริง เช่น ฉากใต้ทะเลมีฉากหลังเป็นสีน้ำเงิน พื้นเป็นทรายและโขดหินปะการัง แวดล้อมด้วยหอย ปู ปลา รวมทั้งสัตว์และพืชใต้ทะเล  เป็นต้น
สื่อวัสดุอิเล็กทรอนิคส์(Electronic Material Media)
วัสดุอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic materials) เป็นวัสดุสารสนเทศที่จัดเก็บสารสนเทศในรูปอักษร ภาพ และเสียงไว้โดยการแปลงสารสนเทศให้เป็นสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะต้องมีเครื่องมือสำหรับจัดเก็บและแสดงผลออกมา โดยการแปลงสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นสัญญาณภาพและเสียง อีกครั้งหนึ่ง เช่น   วีซีดี(VCD)  ดีวีดี(DVD)  ดีวีฟอร์แม็ต (DV Format)   เอ็มเพ็ค (MPEC)  ฯลฯ
ตัวอย่างสื่อ
1.แผ่นซีดี (Compact Disc)
แผ่น CD เป็นแผ่นพลาสติกเคลือบที่มีลักษณะเป็นวงกลม มีช่องตรงกลาง ขนาด 4.8 นิ้ว (12 cm.) หนา 1.2 มิลลิเมตร ประกอบด้วยแผ่นพลาสติกทำจากสาร polycarbonate, สารอลูมิเนียม (aluminum) ซึ่งฉีดลงบนแผ่นพลาสติก polycarbonate ให้มีลักษณะเป็นร่องๆ, สารอคีลิค (acrylic) เคลือบบน Aluminium เพื่อป้องกันผิวเลเบล (Label)  แผ่นซีดีโดยทั่วไปที่วางขาย จะมีความสามารถในการจัดเก็บข้อมูลขนาด 650 MB หรือ 700MB  ต่อแผ่น CD 1 แผ่น  แต่ในบางร้านค้า เราก็สามารถพบเห็นแผ่น CD ขนาดเล็ก เรียกว่า Mini CD  ซึ่งมีความจุอย่างต่ำ 2 MB
CD จะมีหลายชั้น
       1. ชั้นบนสุด ส่วนมากจะเป็นงานพิมพ์ โลโก้
       2. แลกเกอร์ เคลือบป้องกัน ชั้นถัดไป
       3. เป็นวัสดุสะท้อนแสง เลเซอร์ อาจเป็นเงิน ทอง ตะกั่ว โครเมียม หรืออะไรก็แล้วแต่ ตามราคาและคุณภาพ
       4. เป็น โพลีคาร์บอเนต สำหรับเก็บข้อมูล ซึ่งเป็นชั้นล่างสุด ไม่มีอะไรมาเคลือบอีกนะครับ ซึ่งมีความหนา 1.2 มิลลิเมตร หรือ 0.047 นิ้ว (หยิบไม้บรรทัดขึ้นมาดู จะเท่ากับขีดเล็กๆ 1 ขีด+1/5 ของขีดถัดไป
 ชั้นที่ 4 นี้ เก็บข้อมูลโดย ใช้เลเซอร์ยิงให้เป็นหลุม ขนาด ลึก 100 นาโนเมตร กวาง 500 นาโนเมตร แต่ความยาว จะเปลี่ยนแปลงตามความเร็วในการเขียน (ยิงแสงเลเซอร์)
2. แผ่นวีซีดี (VCD :Video Computer Disc)
เป็นวัสดุอิเล็กทรอนิคส์ที่บันทึกและอ่านข้อมูลด้วยแสงเลเซอร์  มีลักษณะทางกายภาพเหมือนแผ่นซีดีทั่วไปทุกประการ  เพียงแต่แผ่นวีซีดีสามารถบันทึกข้อมูลที่เป็นภาพยนตร์พร้อมเสียงสเตอริโอได้ถึง 1.44 ล้านบิตต่อวินาที (Mbps) การบันทึกใช้วิธีการบีบอัดข้อมูลโดยใช้มาตรฐาน MPEC ทำให้สามารถบันทึกและภาพยนตร์ที่มีความยาวมากๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
           3.แผ่นดีวีดี(Digital Video Disc)
เป็นแผ่น CD ที่พัฒนาความจุให้มากขึ้นจากปกติที่จุได้แผ่นละ 650 MB DVD จะบรรจุได้ตั้งแต่        6 - 15 GB และยังคงเพิ่มขีดความสามารถในการจุข้อมูลมากขึ้นเรื่อย ๆ ความมุ่งหมายในการ ใช้งานหลักตอนนี้ก็คงจะบันทึกภาพยนต์ ซึ่งสามารถที่จะใช้แผ่นเดียวพร้อมกับ 6 ภาษาได้อย่างสบาย และคุณภาพของภาพก็คมชัดกว่า VCD อย่างมาก หรือไม่ก็ใช้บันทึกเอนไซโคปิเดียได้ทั้งหมดภายในแผ่นเดียว เครื่องที่จะเปิดดูนั้นจะต้องเป็นเครื่องเล่น DVD โดยเฉพาะ เครื่องคอมพิวเตอร์ที่จะเปิดก็ต้องซื้อ Drive DVD มาต่างหาก ซึ่งตอนนี้คงลืมไปก่อนเพราะยังราคาแพงมากและ Software ที่จะใช้มีน้อยมาก
4.แผ่นเอสวีซีดี (SVCD: Super VCD)
เป็นแผ่นที่มีคุณลักษณะเพิ่มเติมจากแผ่นวีซีดีพัฒนาขึ้นโดยคณะผุ้วิจัยและผู้ผลิตที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน โดยอาศัยเทคโนโลยีของแผ่นดีวีดี แผ่นเอสวีซีดีเป็นแผ่นที่ใช้มาตรฐาน MPEG2   ที่มีความคมชัดภาพ 576*480จุดและเสียงสเตอริโอ ช่องทางของ MPEG2 Audio Layer 2ซึ่งมีอัตราการบีบอัด 1:6-1:8 เอสวีซีดีแผ่นหนึ่งจะเล่นได้ประมาณ 35-80 นาที
5.แผ่นเอ็กซ์วีซีดี (XVCD : eXtended  VCD)
แผ่นเอ็กซ์วีซีดี (XVCD:eXtended VCD) เป็นส่วนขยายของแผ่นวีซีดี รุ่น 2.0 อาจกล่าวได้ว่าเอ็กซ์วีซีดีเป็นการผสมคุณลักาณะระหว่างวีซีดี รุ่น 2.0 และดีวีดี โดยที่แผ่นเอ็กซ์วีซีดีจะมีอัตราการเสนอภาพ 3.5 ล้านบิตต่อวินาที ซึ่งเร็วกว่าแผ่นวีซีดีธรรมดา  แต่ไม่สามารถใช้เสียงหลายช่องทาง(        multi-audio streams) หรือมีข้อความบรรยายได้
6.แผ่นเอ็กซ์เอสวีซีดี (XSVCD : eXtended  VCD)
                แผ่นเอ็กซ์เอสวีซีดี (XSVCD:eXtended VCD) เป็นการผสมคุณลักษณะระหว่างเอ็กซ์วีซีดีและดีวีดี  แผ่นวีซีดีรูปแบบนี้ใช้ MPEG2 เช่นเดียวกับเอสวีซีดีแต่จะมีอัตราการเสนอภาพเร็วถึง9.8 ล้านบิตต่อวินาทีโดยมีความคมชัดของภาพมากกว่าด้วย  สามารถใช้เสียงหลายช่องทางและมีข้อความบรรยายได้  แผ่นวีซีดีคุณภาพสูงทั้งเอสวีซีดี  เอ็กซ์วีซีดี  และเอ็กซ์เอสวีซีดี  ไม่สามารถเล่นกับเครื่องเล่นวีซีดีธรรมดาได้ แต่ต้องใช้กับรุ่นที่เล่นได้ตั้งแต่แผ่นวีซีดี รุ่น 2.0 ขึ้นไป หรือจะเล่นกับเครื่องดีวีดีก็ได้เช่นกัน
สรุป
     สื่อประเภทวัสดุ เป็นสื่อที่มีขนาดเล็กสามารถเก็บบรรจุความรู้และประสบการณ์ไว้เป็นอย่างดี  บางชนิดสามารถสื่อความหมายหรือถ่ายทอดความรู้ได้ด้วยตัวมันเองโดยไม่ต้องอาศัยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดๆ เข้ามาช่วย  แต่บางชนิดต้องอาศัยเครื่องมือในการฉายขยายเนื้อหาความรู้ให้เห็นเป็นภาพขนาดใหญ่หรือให้เสียงดังฟังชัดขึ้น  แบ่งออกเป็นวัสดุ  2  มิติ  วัสดุ 3 มิติ  และวัสดุอิเล็กทรอนิคส์
      สื่อวัสดุ 2 มิติ โดยทั่วไปหมายถึงสื่อวัสดุกราฟิกที่มีรูปภาพ  ตัวหนังสือ  และสัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบสำคัญ  ใช้ในการแสดงความหมายของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง  แนวคิด  เพื่อเสริมความเข้าใจเนื้อหาบทเรียนที่มีลักษณะเป็นนามธรรม  ผู้เรียนสามารถรับรู้และเรียนรู้ได้ด้วยการมองเห็นทางตา  ตัวอย่างของวัสดุกราฟิกที่ใช้กับการเรียนการสอน เช่น แผนภูมิ  แผนภาพ  แผนสถิติ  ภาพการ์ตูน  ภาพโปสเตอร์  ภาพประกอบเรื่อง สมุดภาพ  เป็นต้น
      สื่อวัสดุ 3 มิติ  เป็นสื่อที่สร้างมาจากวัสดุต่างๆ มีความกว้าง  ยาว  และหนาหรือลึก ทำให้เกิดเป็นรูปทรงต่างๆ เช่น หุ่นจำลอง  ของจริง  ป้ายนิเทศ  กระดานแม่เหล็ก  เป็นต้น
      สื่อวัสดุอิเล็กทรอนิคส์ เป็นวัสดุที่ใช้กับเครื่องอิเล็กทรอนิคส์  เช่น    เทปเสียง    ม้วนวีดีทัศน์   แผ่นซีดี  เป็นต้น



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น